จับตา! ดาวแคระขาวขนาดใกล้เคียงโลกระเบิด ในรอบ 80 ปี สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า
Publish date
27/06/2024
Image
1

องค์การนาซา เผยว่า ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 จะมีการปรากฎการณ์การระเบิดของดาวแคระขาว ที่มีขนาดใกล้เคียงโลก ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3,000 ปีแสง โดยเป็นปรากฎการณ์ที่จะเกิดในทุกๆ 80 ปี สามารถมองเห็นได้จากโลกด้วยตาเปล่า

 

วันที่ 6 มิ.ย. 2567 ดร.รีเบคาห์ ฮอนเซลล์ นักวิทยาศาสตร์และผู้ช่วยโครงการวิจัยที่ศูนย์เที่ยวบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา (NASA's Goddard Space Flight Center) ในเมืองกรีนเบลต์
รัฐแมริแลนด์ กล่าวว่า จะมีเหตุการณ์ดาวแคระขาวระเบิด หรือการเกิดโนวา (Nova) ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากโลกด้วยตาเปล่า คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ 

การระเบิดโนวาครั้งนี้เกิดที่ระบบดาวยักษ์แดงในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) โดยเกิดในระบบดาวคู่ (T Coronae Borealis) หรือ T CrB  ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3,000 ปีแสง ระบบดาวคู่ดังกล่าวประกอบด้วย ดาวยักษ์แดง และดาวแคระขาว ที่โคจรรอบกันและกันอย่างใกล้ชิด โดยปรากฎการณ์นี้เกิดจากแรงโน้มถ่วงจากดาวแคระขาว ดึงเอาไฮโดรเจนจากดาวยักษ์แดงซึ่งเป็นดาวฤกษ์ในช่วงท้ายของวิวัฒนาการ มาเก็บสะสมไว้ที่พื้นผิวของมัน ทำให้ก่อตัวเป็นชั้นไฮโดรเจนที่หนาขึ้นจนสามารถจุดชนวนระเบิดแบบเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชันครั้งใหญ่ และปะทุออกมาเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแสงสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 - 100,000 เท่าเมื่อมองจากโลก ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดทุก ๆ 80 ปี โดย T CrB ได้เกิดการระเบิดครั้งล่าสุดไปเมื่อปี ค.ศ. 1946 ดังนั้นจึงใกล้เวลาระเบิดของมันอีกครั้ง

โดยนักดาราศาสตร์กล่าวว่าการระเบิดของ T CrB ถือว่ามีความพิเศษ เนื่องจากมีคาบการระเบิดซ้ำที่สามารถศึกษาได้ เนื่องจากโนวาอื่น ๆ ที่พบจำนวนมากนั้นไม่ได้เป็นโนวาที่เกิดซ้ำ หรือไม่ก็ใช้เวลานานหลายพันปี กว่าจะระเบิดซ้ำ จนมนุษย์ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอีกทีเมื่อไหร่ แต่ T CrB ทำได้เร็วกว่านั้นมาก โดยใช้เวลาเพียง 80 ปี จึงทำให้มันเป็นโนวาที่หายาก

 

1

 

การระเบิดของดาวฤกษ์ แบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ แบบซุปเปอร์โนวา (supernova) และแบบโนวา (nova) โดยซุปเปอร์โนวา เป็นการระเบิดที่รุนแรงมาก จะเกิดขึ้นเมื่ออายุขัยของดาวถึงจุดสิ้นสุด และมักจะเกิดกับดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 8 เท่าขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการระเบิดครั้งสุดท้ายในช่วงชีวิตของดาวฤกษ์ และจะทำให้มวลของดาวหายไป กลายเป็นกลุ่มก๊าซ ส่วนแบบโนวา เป็นการระเบิดที่ผิวดาว ไม่ใช่ดาวทั้งดวง ดังนั้นการระเบิดจึงรุนแรงน้อยกว่าแบบซุปเปอร์โนวา โดยเมื่อเหตุการณ์ระเบิดจบลง ดาวแคระขาวจะยังคงอยู่ ไม่ได้สูญสลายหายไป แต่จะเริ่มสะสมก๊าซใหม่ไว้จนกระทั่งได้ปริมาณมากพอที่จะระเบิดครั้งต่อไปในอีก ซึ่งกรณีการระเบิดของ T CrB ที่กำลังจะเกิดในเดือนกันยายนนี้ เป็นการระเบิดแบบโนวา

 

แหล่งที่มาของข่าว

https://www.nasa.gov/centers-and-facilities/marshall/nasa-global-astronomers-await-rare-nova-explosion/

https://blogs.nasa.gov/Watch_the_Skies/2024/02/27/view-nova-explosion-new-star-in-northern-crown/

 

ผู้เรียบเรียง : ศรสวรรค์  เลี่ยมทอง  นักวิชาการ

ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

Created by
ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ