งานวิจัยชิ้นใหม่เผยความลับสู่การเป็นอาวุธลับในการกำจัดยุง โดยชี้ว่ายุงเพศเมีย ที่กัดคนมี "ฮอร์โมนกระหายเลือด" ยิ่งฮอร์โมนนี้มีระดับสูง ยุงก็ยิ่งหิวโหย เหมือนมีสัญญาณเร่งด่วนให้ตามหาแหล่งเลือด
รายงานการศึกษายุงเพศเมียซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพาหะนำโรคติดต่อผ่านการดูดเลือด ของวารสาร PNAS (The Proceedings of the National Academy of Sciences of the USA.) พบฮอร์โมน 2 ชนิดของยุงลาย (Aedes aegypti) ชื่อว่า neuropeptide F (NPF) และ RYamide ที่ผลิตจากลำไส้ โดย NPF กระตุ้นความสนใจเลือด ส่วน RYamide ยับยั้งความสนใจเลือด โดยทั่วไปวงจรชีวิตยุงจะมีการสลับช่วงระหว่างการถูกดึงดูดเลือดคนหรือสัตว์อื่นกับช่วงที่หมดความสนใจเลือดหลังจากดูดเลือดไปสร้างไข่ ซึ่งยุงเพศเมียวางไข่เป็นรอบ โดยแบ่งเป็นช่วงก่อนสร้างไข่ (previtellogenic) ยุงจะหาแหล่งเลือดของคนหรือสัตว์อื่น และช่วงสร้างไข่ (vitellogenic) เมื่อยุงดูดเลือดร่างกายจะเข้าสู่ช่วงสร้างไข่ ซึ่งจะสร้างไข่ที่สมบูรณ์และหมดความสนใจเลือด จะสนใจอาหารอื่นอื่นน้ำ และน้ำหวาน
ผลการทดลองหลายครั้งพบว่า เซลล์ enteroendocrine (EECs) ในลำไส้กลางส่วนปลาย ผลิตและปล่อยฮอร์โมน neuropeptide F (NPF) เข้าสู่กระแสเลือดช่วงก่อนสร้างไข่ ส่งผลให้ยุงถูกดึงดูดไปหาคนและกัดดูดเลือด หลังจากยุงดูดเลือดซึ่งมีโปรตีนเป็นหลัก ร่างกายจะลดการสร้าง NPF ในเซลล์ EECs จนกระทั่งไข่เจริญเต็มที่ ซึ่งตรงกับปริมาณ NPF ที่ลดลงในกระแสเลือด การลดลงของ NPF ขึ้นอยู่กับการย่อยโปรตีน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียเซลล์ EECs ในขณะเดียวกัน เซลล์ประสาทปลายสุด (terminal ganglion) ส่งสารสื่อประสาทไปยังลำไส้กลางส่วนปลายให้ผลิตสาร RYamide ซึ่งมีแนวโน้มหลั่งเพิ่มขึ้นเข้าสู่กระแสเลือดหลังจากยุงดูดเลือด จากข้อมูลที่นักวิจัยค้นพบจึงนำไปสู่การทดลองฉีดฮอร์โมน RYamide เข้าไปในยุงเพศเมียช่วงก่อนสร้างไข่ พบว่ายุงหมดความสนใจเลือด และในขณะเดียวกัน เมื่อฉีด RYamide ร่วมกับ NPF แบบสั้นๆ ก็ยังสามารถยับยั้งฤทธิ์กระตุ้นความสนใจเลือดของ NPF ได้
งานวิจัยนี้จุดประกายความหวังในการพัฒนายากำจัดยุงแบบไม่ทำลายแมลงชนิดอื่นไปด้วย นักวิทยาศาสตร์มองว่าการควบคุมระดับฮอร์โมนเหล่านี้อาจเป็นแนวทางในการสร้างสารไล่ยุง หรือ ยากำจัดยุงชนิดใหม่ ตัวอย่างเช่น ยาที่ลดระดับ NPF ในยุง หรือสเปรย์ที่กระตุ้น RYamide เพื่อยับยั้งความอยากเลือด อาจเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ การวิจัยยังคงดำเนินต่อไป แต่นี่ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจยุง และอาจนำไปสู่การลดปัญหาจากยุงรบกวนและโรคติดต่อที่ยุงเป็นพาหะ
อ้างอิง
- Xiaoyi Dou, Kangkang Chen, Mark R. Brown and Michael R. Strand. Reciprocal interactions between neuropeptide F and RYamide regulate host attraction in the mosquito Aedes aegypti. 2024. Proceedings of the National Academy of Sciences. Vol. 121 (28) e2408072121. Published online July 1, 2024. https://doi.org/10.1073/pnas.2408072121
- Gemma Conroy, What drives mosquitoes’ bloodlust? Their hormones. 2024. Nature. Published online July 1, 2024. doi: https://doi.org/10.1038/d41586-024-02126-w