นักวิจัยค้นพบการทำงานของยาแอสไพรินในการป้องกันการแพร่กระจายตัวของมะเร็ง
Science News Categories
Publish date
12/03/2025
Image
1

ทีมนักวิจัย จากสหราชอาณาจักร ค้นพบว่ายาแอสไพริน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อาจมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายตัวของมะเร็ง

วารสารวิชาการ Nature ฉบับวันที่ 5 มี.ค. 2568 รายงานว่าทีมนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ค้นพบการทำงานของยาแอสไพริน (aspirin) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง สามารถยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลาม หรือแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่าทีเซลล์ (T-cell) ทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็งในระยะแพร่กระจาย (Metastasis) แต่จะมีเกล็ดเลือด (platelet) ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลออกจากบาดแผล ไปขัดขวางการทำงานของ T-cell ส่งผลให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยาแอสไพรินมีคุณสมบัติช่วยให้เลือดแข็งตัวช้า จึงไปยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้ T-cell สามารถค้นหาเซลล์มะเร็งและกำจัดเซลล์มะเร็งในระยะแพร่กระจายได้ดีขึ้น

1

องค์ความรู้นี้มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาวิธีการป้องกันและรักษาการแพร่กระจายของมะเร็งในอนาคต เนื่องจากแอสไพรินเป็นยาที่มีราคาถูก หาได้ง่าย และมีประวัติการใช้งานที่ยาวนาน การใช้แอสไพรินในขนาดต่ำอาจเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม แอสไพรินอาจมีผลข้างเคียง เช่น การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร และการศึกษาดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นของสัตว์ทดลอง ยังไม่มีการศึกษาในระดับคลินิก จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะใช้ได้ผลในมนุษย์ด้วย ซึ่งหากมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตอาจจะมีทางเลือกใหม่ ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งได้ และเปิดโอกาสในการพัฒนาการรักษาแบบผสมผสานระหว่างแอสไพรินกับภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดอื่น ๆ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถสั่งยานี้ให้กับผู้ป่วยได้ และไม่ควรหาซื้อยานี้มารับประทานเองเพื่อหวังรักษาโรคมะเร็ง

 

อ้างอิง

  1. Yang, J., Yamashita-Kanemaru, Y., Morris, B.I. et al. Aspirin prevents metastasis by limiting platelet TXA2 suppression of T cell immunity. Nature (2025). https://doi.org/10.1038/s41586-025-08626-7
  2. https://www.bbc.com/thai/articles/c80yd0lvr9lo
Created by
เรียบเรียงโดย ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ