
ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ พัฒนา "SRT-H" ระบบสมองกลอัจฉริยะที่สามารถผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อนได้อย่างแม่นยำและราบรื่น โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์ ที่อาจนำไปสู่การผ่าตัดอัตโนมัติเต็มรูปแบบในอนาคต
นับเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการแพทย์ เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins, Stanford และ Columbia สหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ที่ได้รับการฝึกฝนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถทำการผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นการผ่าตัดถุงน้ำดีในอวัยวะหมูที่ตายแล้วได้อย่างสมบูรณ์แบบ 100% โดยไม่ต้องพึ่งการควบคุมจากมนุษย์ ผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2025 ซึ่งอาจนำไปสู่การทดลองผ่าตัดในมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
หุ่นยนต์ศัลยแพทย์นี้ได้รับการฝึกฝนด้วยการเรียนรู้จากการเลียนแบบ (imitation learning) โดยศึกษาจากภาพวิดีโอที่แพทย์มนุษย์ทำการผ่าตัดจริงบนอวัยวะหมูที่ตายแล้ว ระบบ AI ของหุ่นยนต์ใช้เครือข่ายประสาทเทียม (computerized neural networks) ที่มีหลักการคล้ายกับปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ใน ChatGPT หรือ Google Gemini เพื่อประมวลผลและเรียนรู้การจัดการเนื้อเยื่ออ่อนที่ซับซ้อน
งานวิจัยนี้ได้นำเสนอ "SRT-H" (Hierarchical Surgical Robot Transformer) ซึ่งเป็นกรอบการทำงานแบบลำดับขั้นที่ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติงานผ่าตัดที่ซับซ้อนและใช้เวลานานได้ ระบบนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ นโยบายระดับสูง (High-level policy) ทำหน้าที่วางแผนการทำงานและออกคำสั่งในรูปแบบภาษาธรรมชาติ เช่น "ไปที่ตำแหน่งการตัดท่อด้านซ้าย" รวมถึงสามารถสร้างคำสั่งแก้ไขเมื่อเกิดข้อผิดพลาดระหว่างกระบวนการ และนโยบายระดับปฏิบัติการ (Low-level policy) ทำหน้าที่แปลงคำสั่งจากนโยบายระดับสูงให้เป็นการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์
โครงสร้างการทำงานนี้ทำให้หุ่นยนต์สามารถจัดการการผ่าตัดที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง และสามารถปรับตัวเข้ากับความหลากหลายของเนื้อเยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทดสอบผ่าตัดถุงน้ำดีหมู 8 ครั้ง พบว่าหุ่นยนต์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเหล่านี้ 100% โดยการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์มีความกระตุกน้อยกว่าและวางแผนเส้นทางการเคลื่อนที่ที่สั้นกว่า เมื่อเทียบกับศัลยแพทย์มนุษย์ แม้จะใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่าเล็กน้อย

ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการศัลยกรรม เพราะหุ่นยนต์ AI นี้เปิดโอกาสในการทำซ้ำทักษะของศัลยแพทย์ที่เก่งที่สุดได้ในวงกว้าง สามารถนำไปสู่การผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เช่น การผ่าตัดไส้เลื่อนหรือถุงน้ำดี ที่เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น และลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อรอบข้างได้มากกว่าการผ่าตัดโดยมนุษย์ อาจใช้งานร่วมกับการควบคุมของศัลยแพทย์มนุษย์ที่สามารถกำกับดูแลการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์พร้อมกันหลายเคสได้ในอนาคต หรือพัฒนาการผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อนอัตโนมัติ ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ยากกว่าการผ่าตัดเนื้อเยื่อแข็งที่หุ่นยนต์เคยทำได้มาก่อนหน้านี้
แม้จะมีความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้น แต่ John McGrath ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ผ่าตัดในสหราชอาณาจักร และ Nuha Yassin จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ (RCS) เตือนว่า เทคโนโลยีนี้ยังห่างไกลจากการนำไปใช้จริงในคลินิก การทดสอบบนอวัยวะที่ตายแล้วไม่ได้จำลองสถานการณ์จริงที่ซับซ้อน เช่น การเคลื่อนไหวและการหายใจของผู้ป่วย เลือดที่ไหลในบริเวณผ่าตัด การบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ ควันจากการจี้ หรือของเหลวบนเลนส์กล้อง เป็นต้น
Nuha Yassin กล่าวว่า "ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการสำรวจความแตกต่างเล็กน้อยในสาขาที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนี้อย่างรอบคอบ เพื่อประเมินว่าผลการวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร" พร้อมเน้นย้ำว่า การฝึกอบรม การศึกษา และความปลอดภัยของผู้ป่วยยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ AI นี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าอนาคตของการผ่าตัดกำลังจะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจะต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและจริยธรรมเป็นสำคัญ เพื่อให้เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/science/2025/jul/09/robot-surgery-on-humans-could-be-trialled-within-decade-after-success-on-pig-organs
https://www.science.org/doi/epdf/10.1126/scirobotics.adt5254