ไข้นกแก้ว ระบาดยุโรป
Science News Categories
Publish date
15/03/2024
Image

"องค์การอนามัยโลกประกาศเตือน ยุโรปติดเชื้อไข้นกแก้ว เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2023 คร่าไปแล้ว 5 ชีวิต ขอให้ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์ปีก พร้อมชี้แจงอย่าตระหนก ไม่ใช่เชื้อใหม่ มีความเสี่ยงต่ำกว่าไข้หวัดนก H5N1"

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานถึงการพบผู้ติดโรคซิตตาโคซิสหรือไข้นกแก้ว ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับนกป่าและนกท้องที่ เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 จนถึงต้นปี 2024 ในประเทศออสเตรีย เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567)

ไข้หวัดนกแก้วเกิดจากนก เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia psittaci แล้วติดต่อมาสู่คนผ่านสารคัดหลั่งที่นกปล่อยออกมา รวมถึงฝุ่น ละออง และมูลนกแห้ง เมื่อรับเชื้อเข้าไป 5-14 วัน จะมีอาการไข้ ไอ หนาวสั่น ปวดหัว และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สามารถหายได้ด้วยการรับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าไข้หวัดนก (สายพันธุ์ H5N1) แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้สูงวัย อาจแสดงอาการรุนแรง องค์การอนามัยโลกชี้แจงว่าโรคนี้เคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว มีการประเมินสถานการณ์จากข้อมูลที่มีอยู่จัดให้อยู่ในโรคที่มีความเสี่ยงต่ำ ในส่วนของประเทศไทยเองมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคนี้ในปี 1996

นอกจากพบโรคนี้ในคนแล้ว ยังสามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สุนัขและแมว ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคซิตตาโคซิส แต่องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำให้รักษาความสะอาด สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ปีก และเฝ้าติดตามการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด

 

1

 

แหล่งที่มาของข่าว

https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2024-DON509

https://www.thairath.co.th/news/society/2769564

Created by
ณฐพรรณ พวงยะ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ