"ทีมนักวิทยาศาสตร์ประเทศเยอรมันนี ค้นพบปลาแดนีโอเนลลา ซีรีบรัม (Danionella cerebrum) ในลำธาร ประเทศพม่า มีลักษณะตัวใส ขนาดเล็กเพียง 12 มิลลิเมตร และสามารถใช้กระเพาะลมตีเป็นจังหวะ จนเกิดเสียงดังพอๆกับเสียงยิงปืน โดยวัดความดังได้ถึง 140 เดซิเบล"
ทีมนักวิทยาศาสตร์ กรุงเบอร์ลิน ได้ค้นพบปลา Danionella cerebrum ในลำธารประเทศพม่า โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2567 เวริตี คุก หัวหน้าทีมวิจัย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า แดนีโอเนลลา ซีรีบรัม เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งคุณลักษณะเด่นของมันคือ สามารถใช้กระเพาะลมตีเป็นจังหวะได้แรงมากจนเกิดเสียง โดยวัดความดังในน้ำได้ถึง 140 เดซิเบล ซึ่งดังพอๆ กับเสียงยิงปืน โดยที่มันมีลำตัวยาวเพียง 12 มิลลิเมตร เท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า กลไกการสร้างเสียงของปลาชนิดนี้ซับซ้อนเป็นอย่างมาก โดยปกติแล้วปลากระดูกแข็งทั้งหมดจะมีกระเพาะลม และใช้กล้ามเนื้อกระทบกับกระเพาะลมเพื่อสร้างเสียง ส่วนใหญ่จะพบในปลาที่มีขนาดใหญ่ เช่น ปลาจวดดำ และปลาเพลนฟิน แต่ปลาแดนีโอเนลลา ซีรีบรัม มีกลไกการสร้างเสียงที่พิเศษ คือ เมื่อกล้ามเนื้อซี่โครงของมันหดตัวลง จะส่งแรงตึงไปยังกระดูกอ่อน และเมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว กระดูกอ่อนจะไปกระทบกับกระเพาะลมของปลา ทำให้ปลาดังกล่าวสามารถสร้างเสียงได้ดังที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ปลาขนาดเดียวกัน โดยมีเพียงตัวผู้เท่านั้นที่สามารถทำเสียงนี้ได้ และจะส่งเสียงต่อเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารทางสังคม และนอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวิวัฒนาการของพวกมันที่เติบโตภายใต้แหล่งน้ำขุ่น มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถด้านการทำเสียงดัง เพื่อช่วยให้มันสื่อสารถึงกันได้ งานศึกษาชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS)
แหล่งที่มาของข่าวและภาพ
1. https://www.bbc.com/news/science-environment-68402386
2. Verity A. N. O. Cook., Antonia H. Groneberg., Maximilian Hoffmann and Benjamin Judkewitz. Ultrafast sound production mechanism in one of the smallest vertebrates. 2023. The Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS). 121 (10) e2314017121
3. https://agrilifetoday.tamu.edu/2021/09/29/new-fish-identified-after-years-in-scientific-studies/