
ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกรายงานการค้นพบที่น่าตื่นเต้นในทะเลตราด โดยการสำรวจด้วยโดรนขนาดใหญ่บริเวณบ้านไม้รูด พบพะยูน 1 ตัว และฝูงโลมาอิรวดีจำนวนมาก การค้นพบนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่พบพะยูนในทะเลตราด และเป็นครั้งแรกที่พบในพื้นที่บ้านไม้รูด
รายงานข่าวจากหลายสำนักอ้างถึงรายงานจากเพจศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่อ่าวไม้รูด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 ว่าช่วงวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจพบโลมาอิรวดีจำนวนหลายครั้งและยังพบพะยูนอีก 1 ตัวในพื้นที่อ่าวไม้รูดซึ่งเป็นแหล่งที่มักมีการพบโลมาอิรวดีอาศัยอยู่ โดยในช่วงเวลาการบินสำรวจได้พบโลมาอิรวดีมากถึง 20 ครั้ง จากการบิน 13 เที่ยวบิน และยังพบว่ามีฝูงใหญ่ที่มีสมาชิกมากถึง 16 ตัวอยู่รวมกัน โดยคาดว่าในฝูงยังมีถึง 6 คู่ ที่น่าจะเป็นคู่แม่ลูกกัน การค้นพบครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับนักสำรวจเป็นอย่างมากเนื่องจากตลอดระยะเวลาสำรวจในปีที่ผ่าน ๆ มาไม่มีการพบพะยูนในทะเลแถบนี้มานานมาก

ความสำเร็จของการสำรวจสัตว์ทะเลหายากในทะเลตราดครั้งนี้เป็นการใช้โดรนขนาดใหญ่ทำการสำรวจทะเลตราดเพื่อสำรวจ ซึ่งแตกต่างจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ใช้เครื่องบินเล็กบินสำรวจ การสำรวจที่มีการพบพะยูนที่ทะเลตราดครั้งก่อนหน้านี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2561 โดยหลังจากนั้นก็ยังไม่มีรายงานการพบพะยูนที่ทะเลตราดจนกระทั่งมีการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนซึ่งมีความสามารถในการสำรวจพื้นที่ได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาใช้ทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้สามารถตรวจพบพะยูนที่หายากและฝูงโลมาอิรวดีขนาดใหญ่ได้สำเร็จ นับเป็นรายงานชิ้นสำคัญที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการประยุกต์นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่องานทางธรรมชาติวิทยาและงานด้านการอนุรักษ์อีกหนึ่งชิ้น

นักวิจัยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสำรวจอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น โดรน มาใช้ และการสำรวจอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถติดตามประชากรสัตว์ทะเลหายาก และประเมินสถานะของทรัพยากรทางทะเลได้อย่างแม่นยำ การขาดการสำรวจอย่างต่อเนื่องอาจทำให้พลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับจำนวนประชากรและการกระจายพันธุ์ของสัตว์ทะเล ซึ่งอาจนำไปสู่การอนุรักษ์ที่ไม่เหมาะสม
การค้นพบพะยูนและโลมาอิรวดีในครั้งนี้เป็นสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตราด และความสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีโดรนในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงต้องทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามประชากรและพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสมจะถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ต่อไป


อ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพ :
https://www.facebook.com/share/p/1683Ar1VcZ/?mibextid=wwXIfr
https://www.youtube.com/watch?v=MQ3o3JkuESc
https://www.thairath.co.th/news/local/east/2844796
https://www.tnnthailand.com/earth/191090/
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช : https://www.dnp.go.th/Research/Knowledge/payoon.html
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร : https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-128/
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : https://www.dmcr.go.th/fckupload/upload/73_1_6.pdf