
รู้จักอาการ PTSD ที่ใคร ๆ ก็เป็นได้หลังพบเหตุการณ์ร้ายแรง
วันที่ 29 มีนาคม 2568 เว็บไซต์ pptvhd36 รายงานข้อมูลเรื่องโอกาสเกิดความผิดปกติทางอารมณ์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยที่มีศูนย์กลางในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนสังเกตตนเองและทราบแนวทางรับมือ แก้ไข โดยอาการดังกล่าวเรียกว่า Post-traumatic Stress Disorder หรือ PTSD เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์หลังพบเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติ เหตุความรุนแรง จนกระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก หลังผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ มาแล้ว ยังมีอาการหวาดผวา ไม่อาจลืมภาพเหตุการณ์และความรู้สึกในตอนนั้นได้ หรือบางคนอาจเฉยชา หลบเลี่ยงหลีกหนีสิ่งที่จะย้ำเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ไปเลย
นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว บางคนอาจมีอาการซึมเศร้า รู้สึกผิด จากการที่ตนเองเอาตัวรอดมาก่อน จนหันมาทำร้ายตนเองหรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาการทั้งหมดที่กล่าวนี้ พบได้ในทุกเพศทุกวัย กรณีของเด็กเล็กจะมีอาการก้าวร้าว อยู่คนเดียวไม่ได้ ปัสสาวะรดที่นอน ทั้งนี้อาการ PTSD จะปรากฏอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่หากพบว่าไม่สามารถรับมือกับอาการดังกล่าวได้หรือไม่มีแนวโน้มว่าจะทุเลาลง ควรพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางแก้ไข
ด้านกรมสุขภาพจิต ได้แนะวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น หากยังมีอาการหวาดวิตกอยู่ คือ การหายใจลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายสงบ ค่อย ๆ เผชิญสิ่งที่กลัวทีละนิด แทนที่จะหลีกเลี่ยง และเปลี่ยนความคิดตนเองเสียใหม่ว่า “นี่เป็นแค่อาการตกใจของร่างกายเดี๋ยวก็หาย” ทั้งนี้ได้ย้ำว่า อาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง ยิ่งรู้เร็ว ก็จะยิ่งฟื้นฟูจิตใจได้เร็ว หากประชาชนต้องการคำปรึกษา โปรดติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667 (บริการ 24 ชั่วโมง)

อ้างอิง
https://www.pptvhd36.com/health/how-to/5817
https://www.facebook.com/photo?fbid=1099777068855274&set=a.317854973714158