วินาทีกำเนิดระบบสุริยะ
Publish date
23/07/2025
Image

นักดาราศาสตร์สามารถบันทึกภาพช่วงเวลาแรกสุดของการก่อกำเนิดดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์เกิดใหม่ชื่อ HOPS-315 ได้เป็นครั้งแรก การค้นพบนี้เปรียบเสมือน "ภาพถ่ายของเด็กทารก" ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจจุดเริ่มต้นของระบบสุริยะของเราเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

เคยจินตนาการไหมว่าระบบสุริยะของเรามีหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อครั้งยังเป็นทารกเมื่อหลายพันล้านปีก่อน วันนี้คำถามนั้นเริ่มมีคำตอบที่ชัดเจนขึ้น เมื่อทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่เปรียบเสมือนภาพจำลอง ของระบบสุริยะเราในวัยแรกเกิด โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ และกล้องโทรทรรศน์ ALMA ส่องไปยังดาวฤกษ์ HOPS-315 และได้พบกับภาพถ่าย ณ จุดเริ่มต้นของการกำเนิดดาวเคราะห์


สิ่งที่ทำให้การค้นพบนี้พิเศษคือ ทีมวิจัยได้พบหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่ากระบวนการก่อกำเนิดดาวเคราะห์กำลังดำเนินอยู่จริง พวกเขาตรวจพบซิลิกอนมอนอกไซด์ (SiO) ในสถานะก๊าซร้อนเป็นครั้งแรกในจานมวลสารรอบดาวฤกษ์ พร้อมกับผลึกแร่ซิลิเกตในใจกลางของจานมวลสารที่ร้อนจัด ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ถึงกระบวนการที่น่าทึ่ง คือความร้อนมหาศาลจากดาวฤกษ์ HOPS-315 ได้ระเหิดหินและฝุ่นโดยรอบให้กลายเป็นไอ จากนั้นก๊าซร้อนจึงค่อย ๆ เย็นตัวลงและควบแน่นกลายเป็นแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ที่จะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ในอนาคต ก่อนหน้านี้ความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกำเนิดระบบสุริยะมาจากการศึกษาอุกกาบาตโบราณซึ่งเป็นเพียงเศษซากที่หลงเหลืออยู่ แต่การสังเกตการณ์ดาว HOPS-315 เปรียบเสมือนการได้ดูภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์จริง Melissa McClure หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า "มันมีค่ามากที่เราจะมองย้อนกลับไปแล้วพูดได้ว่า ‘นี่สินะคือสิ่งที่ดวงอาทิตย์ของเราเคยเป็น เมื่อตอนที่มันมีอายุเพียง 100,000 ปี ’"


นักวิจัยยอมรับว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกของการค้นพบเท่านั้น ยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับระบบดาว HOPS-315 ที่รอการศึกษาเพิ่มเติม เช่น องค์ประกอบทางเคมีอื่น ๆ และโครงสร้างโดยละเอียด ซึ่งจะช่วยทำนายได้ว่าระบบดาวนี้จะเติบโตไปเป็นแบบใดในอนาคต การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่ตอบคำถามเก่า ๆ เกี่ยวกับอดีตของเรา แต่ยังเปิดประตูสู่คำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับระบบดาวเคราะห์อื่นในจักรวาล ว่ามีที่ไหนอีกบ้างที่อาจมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับเรา และกำลังรอวันที่จะมีดาวเคราะห์โคจรอยู่เช่นกัน

 

A baby star where astronomers have observed evidence for the earliest stages of planet formation.
ภาพดาว HOPS-315 ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Atacama Large Millimeter-submillimeter Array (ALMA) ในประเทศชิลี (สีส้มคือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่กำลังพัดออกจากดาวฤกษ์ศูนย์กลาง ส่วนสีน้ำเงินคือก๊าซซิลิคอนมอนอกไซด์)
ที่มาของภาพ: https://www.nature.com/articles/d41586-025-02245-y

 

อ้างอิง
https://doi.org/10.1038/s41586-025-09163-z 

https://www.nature.com/articles/d41586-025-02245-y

Created by
เรียบเรียงโดย นายศักดิ์ชัย จวนงาม กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ