Submitted by NSM Content Admin on 14 December 2023
ซึมเศร้า ..ที่มาและที่ไป
Science Category
Image

โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคด้านสุขภาพจิตอันดับต้นของประเทศไทย และบางกรณีก็ส่งผลการเสียชีวิต ปี 2017 มีการประเมินว่า ประชากรโลกเกือบ 11% หรือราว 8 ล้านคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต  และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า  33 % หรือราว 2,600,000 คน

อารมณ์..ภาวะ..และโรคซึมเศร้า

 “อารมณ์เศร้า” จัดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชน เกิดขึ้นแล้วก็หายไป  “ภาวะซึมเศร้า” เป็นการเก็บสะสมอารมณ์เศร้าไว้ เกิดขึ้นแล้วยากจะหายไป  ส่วน “โรคซึมเศร้า” ก็จะมีภาวะซึมเศร้าเนิ่นนานจนส่งผลกับสุขภาพและการใช้ชีวิต ซึ่งจิตแพทย์จะเป็นผู้ระบุว่า คนผู้นั้นอยู่ในระดับใด แต่เราจะลองทำแบบประเมินโรคซึมเศร้าที่มีในเว็บต่าง ๆ ก่อนได้

สาเหตุ

สาเหตุหลักเกิดจาก ความผิดปกติของ “สารสื่อประสาท” ในสมอง แต่มีจิตแพทย์บางท่านเห็นว่า “ความเป็นมนุษย์ปุถุชน” เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากมนุษย์มีอารมณ์ ความคิด ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสถานการณ์ และยังมีเรื่องของ กรรมพันธุ์ โดยวงการแพทย์คาดว่า น่าจะมียีนที่ทำให้เราอ่อนไหวกับการเป็นโรคนี้ได้ หากไม่มีอะไรไปกระตุ้นก็จะไม่เริ่มสร้างวงจรโรค คล้ายกับโรคเบาหวานจากกรรมพันธุ์ หากปฏิบัติตัว เลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ โอกาสเกิดโรคก็น้อยไปด้วย  อย่างไรก็ตาม ปัจจัยข้อนี้ยังเกิดจากการพบว่า เด็กที่เกิดมาในครอบครัวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเด็กทั่วไป นั่นเพราะพวกเขาได้เห็นพฤติกรรมและซึมซับสิ่งนี้เข้าไป จนเกิดการลอกเลียนแบบนั่นเอง

ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาวะ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สร้างความเครียด ความกดดันให้แก่เรา

ปัจจัยภายใน ได้แก่ อารมณ์ วิธีคิด และอื่น ๆ ที่ทำให้เราตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้จะกลุ้มรุมเราให้เกิดความเศร้า หดหู่ หากเราไม่อาจจัดการอารมณ์ตัวเองได้ ก็จะส่งผลต่อร่างกายทำให้สารสื่อประสาททำงานผิดปกติ นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ และจาก 3 ปัจจัยที่บอกมา จะเห็นว่าสองปัจจัยแรกนั้น เราไม่อาจแก้ไขอะไรได้ เราเลือกเกิดไม่ได้ เราไม่อาจเลือกให้โลกนี้ไม่มีโควิด-19 ได้ มีเพียงปัจจัยเดียวที่เราพอจะจัดการได้ นั่นก็คือ “ความคิด” ของเรานั่นเอง

คนที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นซึมเศร้านั้น มักจะมีลักษณะการคิดดังนี้

ชอบใช้ความรู้สึกตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วนำมาเป็นพื้นฐานตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน และมักคิดไปในแง่ลบ

ชอบคิดวนเวียน โดยเฉพาะกับเรื่องลบ ๆ ทำให้อยู่ในวงจรของโลกสีหม่น ดึงตัวเองออกมาไม่ได้

ชอบคิดแบบเหมารวม เวลาพบเจอบางสิ่งที่ไม่ได้อย่างใจก็จะเหมารวมว่าสิ่งนั้นทั้งหมดไม่ได้อย่างใจ

ชอบคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

ฝึกคิดแบบบวก

Dr.Michael D.Yabko ผู้เชี่ยวชาญโรคซึมเศร้า มากว่า 40 ปี ได้แนะนำให้เปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งคุณหมอกล่าวว่า วิธีคิดถือเป็นหนึ่งในทักษะที่ดีในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคซึมเศร้า ควรคิดและตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อเท็จจริง และหากคุณไม่รู้ข้อเท็จจริงก็แค่ยอมรับว่าไม่รู้แล้วก็เลิกคิดเป็นตุเป็นตะเอาเอง ไม่ติดอยู่กับอดีต งด (คิด)ดราม่าในทุกปัญหาแต่ให้คิดหาทางแก้ปัญหาแทน ซึ่ง “จำเป็นที่ต้องมีสติกำกับ” ทั้งนี้ขออิงกับหลักทางพุทธศาสนาสักนิดว่า จิต (ในที่นี้คือความคิด) เรานั้นไม่อาจหยุดนิ่ง ควบคุมได้ยาก กระโดดไปในอดีต(ที่คิดว่าแสนเศร้าและเราก็ไม่อาจกลับไปแก้ไขอะไรได้) กับอนาคต (ที่คิดว่ามีแต่ความหม่นหมองรออยู่) แต่ไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน ที่เราสามารถทำให้ดีได้เพื่อโอกาสสร้างอนาคตที่รออยู่ให้สดใสขึ้นได้ แต่ข่าวดีคือ จิตนี้ฝึกฝนได้ โดยใช้สติเป็นผู้ควบคุมการฝึก แน่นอนว่าคงไม่อาจคิดปุ๊บทำปั๊ปได้ สิ่งนี้ต้องใช้เวลาฝึกฝน และอาจไม่ได้เห็นผลในวันสองวัน แค่คิดและเริ่มฝึกก็นับว่า เรามีจุดเริ่มต้นที่ดี

การฝึกฝนทักษะการคิดนี้ ไม่อาจช่วยทุกคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมนุษย์แต่ละคนต่างก็มีปัจจัยที่แตกต่างกันไปอีก เช่น ภูมิหลัง ประสบการณ์ชีวิต อุปนิสัย ที่ล้วนมีผลกับการคิดและนี่แหล่ะจะทำให้แต่ละคนรับมือกับสภาวะต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน

ส่วนผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจกำลังมุ่งหน้าไปบนเส้นทางโรคซึมเศร้า ก็อย่าประวิงเวลา ควรรีบพบผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งพบได้เร็ว ก็แก้ไขได้เร็ว โอกาสที่คุณจะหายจากโรคนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้น ที่สำคัญเข้าไปอีก คือการหาผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจและคุณสามารถเปิดใจกับเขาได้อย่างสบายใจ จะทำให้การรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดี

ที่มาภาพ pexels-vie-studio-7006364

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31464

สาเหตุและการป้องกันโรคซึมเศร้า 1/2

 [Video file]. Video posted to https://www.youtube.com/watch?v=60sxh5eQ7os  

1/2 ห้าสาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้า ที่ไม่ใช่เรื่องสารเคมีในสมอง ช่วงบรรยายเนื้อหา

 [Video file]. Video posted to https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=wVNKL5fZkI0

Re-Mind | EP.3 - เรียนรู้และเข้าใจโรคซึมเศร้า

[Video file]. Video posted to https://www.youtube.com/watch?v=g-AuxSvRJ2E

Author
วารี อัศวเกียรติรักษา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
Science Knowledge Type
Article