สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม เป็นส่วนที่จัดแสดงเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆในเขตน่านน้ำของไทย ผ่านสิ่งมีชีวิตในทะเลชนิดต่างๆทั้งพืชและสัตว์ที่ยังมีชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดที่มีระบบยังชีพสำหรับให้สิ่งมีชีวิตต่างๆเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในแต่ละตู้มีการจัดสภาพให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด แต่ละตู้จะมีป้ายเพื่อบ่งบอกชนิดสัตว์ทะเลที่อยู่ในตู้ทั้งชื่อสามัญและชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยหัวข้อต่างๆที่ให้ความรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 หัวข้อใหญ่
ชีวิตชายฝั่งทะเล
จัดแสดงพื้นที่จำลองบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลง ที่เป็นหาดหิน และมีน้ำขังอยู่ตามแอ่งหิน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เรียกกันทั่วไปว่า "แอ่งน้ำขึ้น-น้ำลง" (Tidal Pool) ตามธรรมชาติตามแอ่งน้ำขึ้น-น้ำลงเช่นนี้จะพบ กุ้ง ลูกปลาบางชนิด หอยนางรม ปูเสฉวน เม่นทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวทะเล ฯลฯ
สีสันแห่งท้องทะเล
ปลาในแนวปะการัง บริเวณแนวปะการังนับเป็นแหล่งที่มีความ อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของทะเล เพราะสัตว์ทะเลหลายชนิดอาศัยบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่หลบ ซ่อนภัยและเป็นแหล่งอาหาร นอกจากนี้แล้ว ยังใช้เป็นที่สำหรับผสมพันธุ์ วางไข่ และเจริญเติบ โตของสัตว์ตัวอ่อนอีกด้วย สำหรับปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นปลาที่มีขนาดและมีสีสันสวย งาม เช่น ปลาสลิด ปลาการ์ตูน ปลาเขียวพระอินทร์ ปลาผีเสื้อ และปลาโนรี เป็นต้น
ครัวของโลก
ในทะเลและมหาสมุทรเขตร้อนเป็นบริเวณที่ค่อนข้างมีปลาชุกชุม และปลาหลายชนิดเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แบ่งเป็นกลุ่มที่นำมาเป็นอาหาร และกลุ่มที่นำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงามอ
- พวกที่นำมาเป็นอาหาร ส่วนมากเป็นปลาที่พบเห็นโดยทั่วไป
- พวกที่นำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ส่วนมากเป็นที่อาศัยอยู่ในบริเวณปะการัง ได้แก่ ปลาสลิดทะเล ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ซึ่งอาจเป็นกลุ่มปลาที่เป็นอาหารได้แต่นำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามด้วย ทำให้มีราคาค่อนข้างแพง ปลาสวยงามบางชนิดมีลวดลายและสีสันที่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเพื่ออำพรางศัตรู เช่น ปลาผีเสื้อปากยาว นอกจากนี้แล้วม้าน้ำซึ่งเป็นปลาที่มีรูปร่างแปลก จัดเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งด้วย เพราะนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้และยังส่งเป็นสินค้าออกในรูปของการตากแห้ง
แปลก... สวยซ่อนพิษ
ปลารูปร่างแปลกและปลามีพิษ ปลาบางชนิดมีรูปร่างแปลก โดยมีรูปร่างหรือสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เพื่อหลบหลีกศัตรูหรือพรางตาเหยื่อ ปลาบางจำพวกนอกจากมีรูปร่างแปลกแล้ว ยังมีสีสันสวยงามและมีพิษด้วย ปลาประเภทนี้มีประมาณ 500 ชนิด รวมถึงปลาบางชนิดที่รับประทานแล้วเป็นพิษต่อมนุษย์
ลานเรียนรู้ชาวเล นิทรรศการ หมุนเวียน และตู้จัดแสดงงานวิจัยเด่น ของสถาบันวิทยาศษสตร์ทางทะเล
ยักษ์ใหญ่ใต้สมุทร
ปลาที่อาศัยในมหาสมุทร ในทะเลและมหาสมุทรมีปลาขนาดใหญ่หลายชนิดอาศัยอยู่ มีขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ปลาที่มีขนาดเล็กรวมทั้งพวกที่มีสีสันสวยงามหลายพวก มักจะอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งหรืออยู่ในที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีที่กำบังและหลบภัย อาศัยอยู่มากในช่วงความลึกไม่เกิน 1,000 เมตร จากผิวน้ำ ได้แก่ ปลาที่เรารู้จักดี เช่น ปลาโอ ปลากะพงขาว ปลาหมอทะเล ปลาอินทรีย์ ปลากระเบน ปลาหมอทะเล ปลาฉลาม เป็นต้น ปลาอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ลึกลงไปเกือบถึงพื้นสมุทร ซึ่งลึกประมาณ 2,000 เมตร เช่น ปลาคอด เป็นต้น
สถานที่ติดต่อ
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยบูรพา
ที่อยู่ : 169 ถ.ลงหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี 20131
โทร . 038-391672,062-7131116
Email : pr.bims@buu.ac.th
เปิดให้บริการทุกวัน 9.00-16.00 น. ไม่มีวันหยุด
อัตราค่าเข้าชม
เด็ก 40 บาท /ผู้ใหญ่ 80 บาท
สูงไม่เกิน 90 ซม. เข้าชมฟรี
อายุเกิน 60 ปี พระภิกษุ และผู้พิการ (แสดงบัตร)
ต่างชาติ เด็ก 120 บาท/ผู้ใหญ่ 220 บาท
*อายุไม่เกิน 15 ปี นับเป็นเด็ก*
การติดต่อเข้าชมล่วงหน้า
1. โดย FAX แจ้งล่วงหน้า 7 วัน แจ้งการเข้าชมมาที่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่หมายเลข (038)391674
2. ส่ง E-mail แจ้งล่วงหน้า 5 วัน E-mail : pr.bims@buu.ac.th
3. ส่งไปรษณีย์ แจ้งล่วงหน้า 7 วัน ส่งหนังสือเข้าชมไปที่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี 20131
เฉพาะบัตรนิสิต ม.บูรพา และ รร.สาธิต ม.บูพา 20 บาท
บัตรเข้าชม สามารถเข้าชมได้ 2 ส่วน คือ
1. สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม
2. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล